You are currently viewing “มูลนิธิมุสลิมเพื่อสันติ” เปิดตัวพร้อมประกาศเจตนารมณ์เพื่อสิทธิมนุษยชนชายแดนใต้

“มูลนิธิมุสลิมเพื่อสันติ” เปิดตัวพร้อมประกาศเจตนารมณ์เพื่อสิทธิมนุษยชนชายแดนใต้

มูลนิธิมุสลิมเพื่อสันติจัดงานเปิดตัวมูลนิธิมุสลิมเพื่อสันติ ศูนย์ประสานงานสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยใช้คอนเซปต์ของงาน “สิทธิสู่สันติ” มีปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “สิทธิมนุษยชน กับเส้นทางสู่สันติภาพสากล” อีกทั้งยังมีวงเสวนาทางวิชาการ เรื่อง “สิทธิพลเมืองในจังหวัดชายแดนใต้ อดีต ปัจจุบัน และอนาคต” และมีการบรรยายในหัวข้อ “สิทธิสู่สันติ”

งานเปิดตัวมีขึ้นเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2559 ที่ผ่าน ณ ห้องน้ำพราวบอลรูม โรงแรมซีเอส ปัตตานี โดย ผศ.ดร.วรวิทย์ บารู ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “สิทธิมนุษยชน กับเส้นทางสู่สันติภาพสากล” โดยกล่าวว่า เมื่อพูดถึงเรื่องสิทธิมนุษยชนถือเป็นเรื่องสากล ซึ่งในหลักการของอิสลามก็พูดถึงเรื่องนี้มานานกว่าพันปีมาแล้ว โดยในอิสลามจะให้ความสำคัญในเรื่องของสิทธิต่างๆ อย่างการมีอิสรเสรีในการเลือกที่จะเชื่อหรือไม่เชื่อในอิสลามก็ได้ อิสลามยังให้ความสำคัญในเรื่องของความเท่าเทียม และการให้เกียรติต่อมนุษย์ด้วยกัน

นอกจากนี้ในงานยังมีวงเสวนาทางวิชาการ เรื่อง “สิทธิพลเมืองในจังหวัดชายแดนใต้ อดีต ปัจจุบัน และอนาคต” โดย ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ (CSCD) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นายมูฮำมัดอายุบ ปาทาน ประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้ และบรรณาธิการอาวุโสศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DeepSouthWatch) นายอนุกูล อาแวปูเตะ ประธานมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมประจำจังหวัดปัตตานี ดำเนินการเสวนาโดย นายโยฮัน เบ็ญฮาวัน ปลัดอำเภออำเภอยะหริ่ง จ.ปัตตานี และ บรรยายในหัวข้อ “สิทธิสู่สันติ” โดย เชคริฎอ อะหมัด สมะดี

นายฮานีฟ หยงสตาร์ เลขาธิการมูลนิธิมุสลิมเพื่อสันติ กล่าวแนะนำว่ามูลนิธิมุสลิมเพื่อสันติก่อตั้งและดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับประเด็นสิทธิมนุษยชนมากว่าทศวรรษ เพื่อปกป้องและรักษาสิทธิของพี่น้องมุสลิมทั่วโลก โดยกรอบงานของมุสลิมเพื่อสันติมุ่งเน้นไปยังการคุ้มครองของสิทธิมนุษยชนเป็นหลัก ซึ่งได้เปิดรับการร้องเรียนเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่างๆ ปัจจุบันเปิดสำนักงานแล้ว 5 สาขา

มูลนิธิมุสลิมเพื่อสันติเปิดสาขาแรกคือสาขาจังหวัดระนอง ซึ่งเป็นพื้นที่ติดชายแดนพม่าที่มีปัญหาขบวนการค้ามนุษย์เป็นปัญหาใหญ่ของประเทศไทยปัจจุบัน โดยมูลนิธิมุสลิมเพื่อสันติได้ดำเนินการร่วมกับเจ้าหน้าที่ของรัฐมาโดยตลอดในการกดดัน ต่อต้าน และปราบปรามขบวนการค้ามนุษย์ ผลสำเร็จที่ผ่านมาสามารถช่วยให้ประเทศไทยลดการถูกจัดอันดับให้อยู่ในประเทศที่มีการค้ามนุษย์ในอันดับสูงได้ และมีเป้าหมายเพื่อให้ประเทศไทยปลอดจากการค้ามนุษย์ในที่สุด ซึ่งการดำเนินงานที่ผ่านมาที่ร่วมกับเจ้าหน้าที่รัฐจนสามารถนำไปสู่การจับกุมบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์กรณีโรฮิงญาที่นำไปสู่การจับได้แล้วกว่า 90 คน พร้อมกันนี้มูลนิธิมุสลิมเพื่อสันติยังได้ส่งทนายความเพื่อเป็นโจทย์ร่วมด้วย สามจังหวัดชายแดนใต้สงบได้ แต่ก็จะพยายามสร้างสันติสุขให้ได้

งานที่สำคัญอีกประการคือ การไปเยี่ยมเยียนพี่น้องมุสลิมในเรือนจำ เพื่อเข้าไปอบรม ขัดเกลาในเรื่องของศาสนา และดูแลสิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆ ซึ่งการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรงในเรือนจำยังคงมีอยู่ และยังคงมีเรื่องร้องเรียนมาอยู่เรื่อยๆ งานในด้านอื่นๆ เช่น มีสถาบันที่ทำหน้าที่ตรวจสอบเรื่องของฮาลาล เพราะบางครั้งสินค้ามีเครื่องหมายฮาลาลแต่ปรากฏว่าเมื่อได้รับการร้องเรียนและไปตรวจสอบ พบว่าสินค้าเหล่านั้นไม่ฮาลาล
งานต่อมาคือการดูแลสิทธิของมุสลีมะฮ์หรือสตรีมุสลิม ที่มีการละเมิดอยู่ในปัจจุบัน เช่น โรงพยาบาลต่างๆ ไม่อนุญาตให้สวมฮิญาบหรือผ้าคลุมผม แม้แต่โรงพยาบาลในนราธิวาส ปัตตานี เคยมีเรื่องร้องเรียน หรือแม้แต่ผู้ชายยังถูกละเมิดด้วยเช่นกัน โดยล่าสุดมีเรื่องร้องเรียนจากนักศึกษาแพทย์ว่าด้วยเรื่องที่โรงพยาบาลสงขลาไม่อนุญาตให้ไว้เคราได้ นอกจากนั้นยังมีงานที่เกี่ยวกับเด็กกำพร้าและผู้หญิงหม้าย และงานอื่นๆ เช่น งานสื่อที่พยายามจะผลิตสื่อสีขาว เป็นต้น

เป้าหมายต่อไป จังหวัดชายแดนภาคใต้

มูลนิธิมุสลิมเพื่อสันติจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเปิดสาขาในพื้นที่จังหวัดชานแดนใต้ เพราะได้ประเมินสถานการณ์และเฝ้าดูองค์กรภาคประชาสังคมอื่นๆ ที่เคลื่อนไหวในพื้นที่ เช่น มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมที่คอยให้ความช่วยเหลือทางด้านกฎหมาย หรือภาคประชาสังคมต่างๆ อย่างท่านมูฮำมัดอายุบ ปาทาน ที่พยายามขับเคลื่อนงานเพื่อให้เกิดความสันติภาพในพื้นที่ชายแดนใต้ เป็นต้น
สำหรับศูนย์ประสานงานสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้เปิดตัวโดยที่ทีมงานใช้โลโก้ของมูลนิธิฯ รวมเข้ากับว่าวบูลัน ที่เปรียบเสมือนว่าวบูลันที่ทะยานขึ้นสู่ฟ้าเพื่อแสดงให้เห็นว่าชีวิตของมุสลิมทุกคนในพื้นที่ชายแดนใต้มีความอิสระแต่อยู่ภายใต้หลักการที่เข้มแข็ง และว่าวบูลันจะสามารถส่งเสียงดัง เปรียบเสมือนทุกคนที่จะร่วมกันขับขานเสียงแห่งอิสรภาพ เสรีภาพ ให้ปรากฏขึ้นในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้จงได้

“คำประกาศเจตนารมณ์” มูลนิธิมุสลิมเพื่อสันติ

ทีมงานมูลนิธิมุสลิมเพื่อสันติ ศูนย์ประสานงานสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขึ้นเวทีประกาศประกาศเจตนารมณ์ในการทำงาน ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
“ข้าพเจ้า คณะกรรมการมูลนิธิมุสลิมเพื่อสันติ ขอประกาศเจตนารมณ์ว่า จะปฏิบัติงานด้านสิทธิมนุษยชนด้วยเจตนาอันบริสุทธิ์ มุ่งมั่นทุ่มเทในการปกป้องคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชน โดยยึดหลักความยุติธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ ซื่อสัตย์สุจริตเป็นหลักสำคัญ เผชิญปัญหาด้วยความอดทน สุขุม และขันติ มีเมตตาและเสียสละต่อผู้ถูกอธรรม จะมุ่งมั่นในการเรียกร้องความยุติธรรมและความเป็นธรรมในสังคม ส่งเสริมความร่วมมือและการประสานงานระหว่างหน่วยราชการ องค์กรเอกชน และภาคประชาสังคมในด้านสิทธิมนุษยชน ตลอดจนคำนึงถึงการสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างประชาชนเป็นสำคัญ เพื่อร่วมกันสร้างสังคมแห่งความเสมอภาค ยุติธรรม และการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ให้ยั่งยืนสืบไป”

#อิมรอน ซาเหาะ โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ (Dsj)